มะเร็งปอด โรคร้ายใกล้ตัวที่ต้องระวัง

228

โรคมะเร็งนั้นมีหลายชนิดหากผู้ป่วยมีอาการของโรคที่รุนแรงมากแล้วก็จะทำให้มีโอกาสเสียชีวิตได้ โดย มะเร็งปอด นั้นถือว่าเป็นอันดับต้นๆในสาเหตุของการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในประเทศไทย โดยเริ่มแรกเมื่อเป็นโรคนี้ผู้ป่วยมักไม่ค่อยแสดงอาการ แต่จะเริ่มแสดงอาการก็ต่อเมื่อมีการลุกลามของเชื้อมะเร็งนั้นมีมากขึ้น แต่ว่าโรคนี้หากรู้ตั้งแต่เนิ่นๆก็จะรักษาให้หายได้

โรคมะเร็งปอดคือ?

โรคนี้เกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ที่มีการลุกลามอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มันเกิดเป็นกลุ่มก้อนเซลล์ที่ผิดปกติ ซึ่งเมื่อมีจำนวนมากขึ้นจะสามารถแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่นๆของร่างกายได้ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิดดังนี้

  • ชนิดเซลล์ขนาดเล็ก (Small Cell Lung Cancer) สามารถที่จะแพร่กระจายได้เร็ว จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว
  • ชนิดเซลล์ที่ขนาดไม่เล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer) เซลล์มะเร็งมีการแพร่กระกายได้ช้า หากมีการตรวจพบในระยะแรกๆก็สามารถรักษาให้หายได้โดยทำการผ่าตัด

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดมะเร็งปอด

  • การสูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดกว่าผู้ที่ไม่สูบมากถึง 10-30 เท่า เพราะว่าสารพิษต่างๆที่อยู่ในควันบุหรี่นั้นสามารถที่จะทำลายเซลล์ปอดได้ ทำให้เซลล์เกิดความผิดปกติและสามารถลุกลามไปส่วนอื่นๆของร่างกายได้ โดยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการสูบบุหรี่จัดหรือสูบวันละหลายมวนและจำนวนปีที่สูบบุหรี่
  • สารพิษและมลภาวะจากสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่น, ควันพิษจากการเผาเศษใบไม้กิ่งไม้และขยะต่างๆ, สารหนู, ไอระเหยจากนิกเกิล โครเมียม และมลภาวะทางอากาศอื่นๆ
  • ปัจจัยทางด้านอายุ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีจะมีความเสี่ยงมากขึ้น แต่ก็สามารถพบโรคนี้ในผู้ที่อายุต่ำกว่า 40 ปีได้เช่นกัน
  • ปัจจัยอื่นๆ เช่น ภาวะของการขาดวิตามินเอ และปัจจัยทางด้านพันธุกรรม เป็นต้น

อาการ

  • มีอาการไอแบบเรื้อรัง และไอมีเสมหะแบบปนเลือด
  • ผู้ป่วยจะหายใจหอบเหนื่อย หายใจลำบาก
  • หายใจสั้นมีเสียงหวีด
  • มีอาการเจ็บหน้าอกขณะที่หายใจ
  • มีอาการเสียงแหบ
  • ปอดมีการติดเชื้อบ่อย
  • รู้สึกเหนื่อยง่าย มีอาการอ่อนเพลีย
  • น้ำหนักลดลงอย่างมากโดยไม่ทราบสาเหตุ

การรักษา

การรักษาจะขึ้นอยู่กับระยะของโรคที่เป็นอยู่ขณะนั้น โดยมีวิธีในการรักษาอยู่หลายวิธีดังนี้

  • การผ่าตัด จะทำการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งบริเวณปอดและต่อมน้ำเหลืองบริเวณช่องอกออกมา มักใช้วิธีนี้กับมะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็กที่สามารถลุกลามได้อย่างรวดเร็ว และใช้กับชนิดเซลล์ที่ขนาดไม่เล็กในโรคมะเร็งปอดระยะที่ 1, 2 และ 3A อีกด้วย
  • การฉายรังสี จะเป็นการใช้พลังงานรังสีฉายทำลายก้อนมะเร็ง
  • ให้ยาเคมีบำบัด อาจใช้ในการรักษาเสริมหลังการผ่าตัดเพื่อให้โรคหายขาดมากขึ้น หรืออาจจะใช้ก่อนผ่าตัดเพื่อให้ขนาดก้อนมะเร็งเล็กลงจะได้ทำการผ่าตัดง่ายขึ้น
  • รักษาแบบเฉพาะเจาะจง คือการใช้ยาในการรักษาให้ออกฤทธิ์แบบเฉพาะเจาะจงกับเซลล์มะเร็ง จึงไม่เกิดผลข้างเคียงเหมือนการใช้ยาเคมีบำบัดในการรักษา
  • ใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัด จะใช้ทำการรักษาในระยะของโรคที่มีการแพร่กระจาย
  • รักษาด้วยการผสมผสาน โดยทั่วไปสำหรับการรักษานั้นจะใช้มากกว่าหนึ่งวิธี เพื่อจะส่งผลให้การรักษาดียิ่งขึ้น

หากคุณไม่อยากที่จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งปอด ควรลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆลง เช่น งดสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงควันพิษต่างๆ ก็สามารถที่จะลดโอกาสการเกิดโรคนี้ลงได้